• หน้าแรก
  • ข่าวสาร
  • มูลค่าเงินตามเวลา time value of money | หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3

มูลค่าเงินตามเวลา time value of money | หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3

หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3 มูลค่าเงินตามเวลา ( time value of money )
 

 
  • ในการตัดสินใจทางการเงิน ผู้ที่ทำหน้าที่ในการวางแผนทางการเงินจะต้องมีการนำต้นทุนค่าเสียโอกาส  (opportunity cost) เข้ามาพิจารณาด้วยเสมอ แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา (time value of money) นั้นเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสของเงินทุนที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินในเวลาต่างกันจะมีมูลค่าที่ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากเงินที่ได้มาก่อนนั้นสามารถที่จะนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนได้ก่อน ทำให้เงินจำนวนเดียวกันในเวลาที่ต่างกันนั้นมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการเปรียบเทียบเงินในเวลาที่ต่างกันจึงไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะต้องมีการเปลี่ยนเงินแต่ละจำนวนที่จะนำมาเปรียบเทียบกันให้เป็นเงินในเวลาเดียวกันก่อน อนุมานได้กับการบวกลบเลขที่มีฐานต่างกันไม่สามารถที่จะบวกลบกันได้โดยตรง จะต้องมีการเปลี่ยนเลขที่มีฐานต่างกันให้เป็นฐานเดียวกันก่อน จึงจะสามารถนำมาบวกลบกันได้
 
  • แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลาจึงเป็นแนวคิดที่ใช้ในการแปลงมูลค่าของเงินที่ได้รับหรือที่ต้องจ่ายไปในเวลาต่างๆกัน ให้เป็นมูลค่าของเงินในเวลาเดียวกัน เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบมูลค่าเงินในเวลาที่ต่างกัน หรือทำการบวกลบมูลค่าเงินในเวลาที่ต่างกัน สำหรับการตัดสินใจทางการเงินต่างๆ
 
  • เราอาจจะพิจารณาความสำคัญของแนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา จากตัวอย่างในการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ในงานส่งเสริมการขายของรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งซึ่งบริษัทผู้ขายกำหนดราคาขายไว้ 1,000,000 บาท ในกรณีที่ลูกค้าจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดในวันที่ทำการซื้อขาย อย่างไรก็ตามในกรณีที่ลูกค้าไม่ต้องการจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด บริษัทกำหนดให้ลูกค้าจ่ายเงินดาวน์ในวันที่ทำการซื้อขาย 250,000 บาท และชำระเงินค่ารถในส่วนที่เหลืออีก 800,000 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า คำแนะนำในการตัดสินใจว่า 1. ควรจะจ่ายเป็นเงินสด หรือ 2. เลือกจ่ายเงินดาวน์และผ่อนชำระส่วนที่เหลืออีก 1 ปี อาจมีแนวทางในการแยกพิจารณาจำนวนเงินที่ต้องชำระเป็น 2 ส่วนดังนี้
    1. เงินสด 250,000 บาทที่ลูกค้าจะต้องจ่ายเท่ากันในวันที่ทำการซื้อขาย ไม่ว่าจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ในทางเลือกใดก็ตาม
    2. จำนวนเงินที่เหลือที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าเลือกจ่ายเป็นเงินสดหรือจ่ายเงินดาวน์แล้วค่อยชำระส่วนที่เหลือ
      • -   ทั้งนี้ลูกค้าที่เลือกจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดจะต้องจ่ายเพิ่มอีกหนึ่งจำนวนในวันที่ทำการซื้อขาย 750,000 บาท แต่ถ้าหากลูกค้าไม่ต้องการจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดจะต้องจ่ายเพิ่มอีกหนึ่งจำนวนในอีก 1 ปีข้างหน้า 800,000 บาท
      • -   ถ้าหากกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษีเท่ากับ 2.5% ต่อปี ทบต้นปีละครั้ง จะพบว่าลูกค้าที่มีเงินสด 1,000,000 บาท สามารถนำเงินสดที่เหลืออีกหนึ่งจำนวนในวันที่ทำการซื้อขาย 750,000 บาทไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้เมื่อถึงสิ้นปีจะมีเงินออมที่เพิ่มขึ้น 18,750 บาทซึ่งเป็นดอกเบี้ยจากการนำเงินต้น 750,000 บาทไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ ณ สิ้นปีมีเงินออมทั้งสิ้น 768,750 บาท มูลค่าเงินออมรวม ณ สิ้นปี 768,750 บาท ดังกล่าวนี้จะเรียกว่า มูลค่าทบต้น (compound value) หรือมูลค่าอนาคต (future value) ของเงินต้น 750,000 บาท
      • -   ดังนั้นลูกค้าที่มีเงินออม1,000,000 บาท ซึ่งได้รับอัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษี 2.5% ต่อปี ทบต้นปีละครั้ง ควรที่จะเลือกชำระเงินค่ารถยนต์เป็นเงินสด เนื่องจากมีราคาที่เปรียบเทียบเป็นมูลค่าอนาคตที่ต่ำกว่า หรือพูดง่ายๆก็คือว่าลูกค้าสามารถนำเงินที่เหลือ 750,000 บาทไปลงทุนแล้วได้รับมูลค่าอนาคตต่ำกว่าจำนวนเงินที่ต้องชำระเพิ่มเติม 800,000 บาทนั่นเอง
 
  • แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลาไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเปรียบเทียบต้นทุนในการซื้อสินค้าหรือบริการ การตัดสินใจระหว่างการซื้อและการเช่าซื้อ แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตัดสินใจในทางเลือกการลงทุนต่างๆ อีกด้วย กล่าวโดยสรุปแล้วแนวคิดดังกล่าวนี้จะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการตัดสินใจต่างๆ ทางการเงินที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดที่จ่ายหรือรับหลายๆ จำนวนในเวลาที่ต่างกัน
 
  • ในการตัดสินใจทางด้านการเงินส่วนบุคคล (personal finance) มีความจำเป็นในการประยุกต์ใช้แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณเงินออมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถทราบว่าบุคคลนั้นๆ จะต้องออมเงินในแต่ละงวดเท่าใดเพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่งที่ต้องการในอนาคต นอกจากนั้นเรายังสามารถนำแนวคิดดังกล่าวนี้ไปประยุกต์ในการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ทั้งในส่วนของการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดไว้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งถ้าหากการชำระคืนในแต่ละงวด มีจำนวนชำระคืนเท่าๆ กันภายในระยะเวลาที่กำหนด เราจะเรียกการผ่อนชำระคืนเงินกู้นี้ว่า loan amortization ทั้งนี้เงินที่ชำระคืนทั้งหมดทุกงวดรวมกันจะต้องมีมูลค่าปัจจุบันเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกหนี้ได้กู้ยืมมาใช้ในปัจจุบัน  การประยุกต์ใช้แนวคิดดังกล่าวยังมีประโยชน์ในการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ในกรณีที่มีทางเลือกในการลงทุนหลายๆ ทางเลือก ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะใช้แนวคิดมูลค่าเงินตามเวลา ในการคำนวณหาอัตราผลตอบแทนจากแต่ละทางเลือกในการลงทุน
 
  • เนื้อหาในบทนี้จะเป็นการอธิบายวิธีการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา ในกรณีต่างๆกันดังนี้
    • 1.กรณีที่มีเงินเพียงจำนวนเดียว
    • 2.กรณีกระแสเงินสดหลายๆ จำนวน
    • 3.กรณีเงินงวด 
    • 4.กรณีเงินงวดตลอดชีพ ตามลำดับ โดยเนื้อหาในบทนี้จะเริ่มต้นด้วยการอธิบายนิยามศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดมูลค่าเงินตามเวลาดังนี้
  • เงินต้น (principal) หมายถึงจำนวนเงินที่นำมาเป็นฐานในการคิดดอกเบี้ย
  • เงินงวด (annuity) คือกระแสเงินสด (cash flows) ที่มีเงินหลายๆจำนวน แต่ละจำนวนมีมูลค่าเท่าๆกัน แต่ละจำนวนนั้นมีระยะเวลาห่างเท่าๆกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้นในอัตราเดียวกันทุกๆงวดตลอดระยะเวลาการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสด
  • เงินงวดปกติ (ordinary annuity) คือเงินงวดที่มีการจ่ายหรือรับเงินสดเกิดขึ้น ณ.วันสิ้นงวด
  • เงินงวดหนี้ (annuity due) คือเงินงวดที่มีการจ่ายหรือรับเงินสดเกิดขึ้น ณ.วันต้นงวด
  • เงินงวดตลอดชีพ (perpetuity) หมายถึงเงินงวดที่ไม่มีอายุหรือระยะเวลาสิ้นสุด หรือเงินงวดที่ไม่มีการหยุดชำระจำนวนเงินในแต่ละงวดให้แก่ผู้ได้รับสิทธิในเงินงวดนั้น
  • ดอกเบี้ย (interest) หมายถึงผลตอบแทนที่ได้รับหรือผลตอบแทนที่ต้องจ่ายจากการใช้เงินทุน
  • ดอกเบี้ยอย่างง่าย (simple interest) คืออัตราดอกเบี้ยที่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นเท่านั้น
  • ดอกเบี้ยทบต้น (compound interest) คืออัตราดอกเบี้ยที่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นและดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นเงินต้นในงวดถัดไป
  • อัตราดอกเบี้ยที่ระบุ (stated interest rate หรือ nominal interest rate) คืออัตราดอกเบี้ยต่อปีที่กล่าวถึงกันโดยทั่วไปที่ระบุในสัญญาทางการเงินต่างๆซึ่งยังไม่ได้คำนึงถึงจำนวนครั้งในการคิดทบต้นต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective interest rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่มีการแปลงระยะเวลาการคิดทบต้นเป็น 1 ปี
  • อัตราคิดลด หรือ อัตราส่วนลด (discount rate) คืออัตราการลดลงของค่าของเงินในอนาคตเมื่อคำนวณให้เป็นมูลค่าของเงินในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นส่วนกลับกับอัตราดอกเบี้ยทบต้น (compounding interest rate)  ในบางครั้งอาจจะเรียกว่า อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ (require rate of return) ค่าของทุน (cost of capital) หรือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost)ก็ได้
  • มูลค่าอนาคต (future value) หรือมูลค่าทบต้น (compounded value) คือมูลค่าในอนาคตเมื่อครบกำหนดที่เพิ่มขึ้นจากเงินต้นจำนวนหนึ่งที่ลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นในระยะเวลาดังกล่าว
  • มูลค่าปัจจุบัน (present value) คือมูลค่าของกระแสเงินสดทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบให้เป็นมูลค่าเมื่อเริ่มต้นการลงทุนหรือการกู้ยืม
  • การคิดทบต้น (compounding) คือกระบวนการหามูลค่าในอนาคตที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในปัจจุบัน
  • การคิดลด (discounting) คือกระบวนการหามูลค่าที่ลดลงของจำนวนเงินหรือกระแสเงินสดที่กำหนดหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเปรียบเทียบให้เป็นมูลค่าในปัจจุบัน
  • แกนของเวลา (time line) คือเส้นตรงในแนวนอนที่มีการระบุถึงจำนวนเงินและระยะเวลาที่เกิดขึ้นของจำนวนเงินดังกล่าว
  • กฎ 72 (rule of 72) ใช้ในการคำนวณระยะเวลาที่เงินต้นจะทวีคูณเป็น 2 เท่า โดยนำ 72 ไปหารด้วยอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ
 
  • วัตถุประสงค์ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3 มูลค่าเงินตามเวลา มีดังนี้
  1. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจนิยามศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา
    1. 1  เงินต้นและดอกเบี้ย (principal and interest): สามารถอธิบายถึงเงินต้น ดอกเบี้ย ความแตกต่างระหว่างการคิดดอกเบี้ยอย่างง่าย (simple interest) และการคิดดอกเบี้ยทบต้น (compound interest) ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ระบุ (stated interest rate) และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (effective interest rate) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยประเภทต่างๆ
    2. 2  แกนของเวลา (time line): สามารถอธิบายแกนของเวลา (time line) และการนำไปประยุกต์ใช้ในการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา
    3. 3  การคิดทบต้นและการคิดลด (compounding and discounting): สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างการคิดทบต้น (compounding) และการคิดลด(discounting)
    4. 4  มูลค่าอนาคตและมูลค่าปัจจุบัน (future value and present value): สามารถอธิบายความแตกต่างระหว่างมูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value)
  2. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินจำนวนเดียว (conversion of time value of money of a single amount) โดยสามารถอธิบายหลักการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินจำนวนเดียว ทั้งการคำนวณหามูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ
  3. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีกระแสเงินสดหลายจำนวน (conversion of time value of money of a mixed stream of cash flow) โดยสามารถอธิบายหลักการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลา กรณีกระแสเงินสดดังกล่าวมีหลายจำนวนในเวลาที่ต่างกัน ทั้งการคำนวณหามูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ
  4. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินงวด (conversion of time value of money of an annuity) โดยสามารถอธิบายถึงเงินงวด (annuity) และความแตกต่างระหว่างเงินงวดปกติ (ordinary annuity) และเงินงวดหนี้ (annuity due) พร้อมทั้งอธิบายการคำนวณหามูลค่าอนาคต (future value) และมูลค่าปัจจุบัน (present value) ของเงินงวด พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ
  5. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการแปลงมูลค่าเงินตามเวลากรณีเงินงวดตลอดชีพ (conversion of time value of money of perpetuity) โดยสามารถอธิบายถึงเงินงวดตลอดชีพ (perpetuity) และการคำนวณหามูลค่าปัจจุบัน (present value) ของเงินงวดตลอดชีพ (perpetuity) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการคำนวณประกอบ
  • องค์ความรู้ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 3 มูลค่าเงินตามเวลา มีดังนี้
    1. นิยาม
    2. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินจำนวนเดียว
    3. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีกระแสเงินสดหลายจำนวน
    4. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินงวด
    5. การแปลงมูลค่าเงินตามเวลา กรณีเงินงวดตลอดชีพ
 
อบรมวางแผนการเงิน อบรมCFP มูลค่าเงินตามเวลา

 



ThaiPFA ศูนย์อบรมต้นแบบ สู่เส้นทางคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP มืออาชีพมาตรฐานสากล

 


Thai Professional Finance Academy (ThaiPFA)

ติดต่อ


      086-666-0090 , 082-701-7077 , 087-063-3306 
 

ขอบคุณทุกความไว้วางใจ ที่มีให้ ThaiPFA


#นักวางแผนการเงินCFPมาตรฐานสากลกับThaiPFA #เส้นทางสู่วิชาชีพนักวางแผนการเงินCFPมาตรฐานสากลโดยThaiPFA #ThaiPFAศูนย์อบรมต้นแบบเพื่อความมั่งคั่งมั่นคงและยั่งยืน
E-mail: thaipfa@gmail.com
Website: www.thaipfa.co.th 
Social network: www.facebook.com/thaipfa
LINE: @thaipfa
Mobile: 086-666-0090 , 087-063-3306 ,082-701-7077